สาขาวิชาดนตรีศึกษา
ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ พิธีมอบตัวเป็นศิษย์ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
การไหว้ครูดนตรีไทย
โดย มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทย
การไหว้ครูนั้นไทยเรามักจะปฏิบัติกันทุกอย่างไม่ว่าจะประกอบกิจกรรมกันอย่างไหน คนไทยเรายึดมั่นในความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็นนิสัย โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ไม่ว่าวิชาใด เรามักจะเคารพบูชาระลึกถึงคุณานุคุณถ้ามีโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณได้ก็มักจะกระทำเสมอ การกระทำที่เป็นการสนองพระคุณนั้น อาจกระทำได้ต่างๆตามฐานะและโอกาส อาจช่วยเหลือด้วยเงินทอง ช่วยเหลือทำการงานหรือปฏิบัติ หากครูได้สิ้นชีพไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ หรือเชิดชูเกียรติคุณในสิ่งที่ครูได้กระทำไว้ให้แพร่หลาย เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้เป็นกตเวทิคุณที่ศิษย์กระทำด้วยความกตัญญูในวิชาทั่วๆไป แต่โดยเฉพาะวิชาที่เป็นศิลป์ การกระทำกตเวทิคุณยังแผ่ออกไปถึงเทพเจ้าที่วิชานั้นถือว่าเป็นครูบาอาจารย์และเป็นผู้มีอุปการคุณต่อวิชานั้นด้วย เพราะฉะนั้นศิษย์ที่เรียนวิชาศิลปะจึงยังมีกตเวทิคุณอีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ไหว้ครู”
พิธีไหว้ครูนี้ ศิลปะประเภทหนึ่งก็มีพิธีการไปอย่างหนึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะศิลปะวิทยาการนั้นๆ
แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการไหว้ครูดนตรีไทยเท่านั้น

การไหว้ครูของดนตรีไทยนั้นก็มีหลายอย่าง เวลาก่อนนอน เราสวดมนต์ไหว้พระแล้วก็ไหว้ครูบาอาจารย์ด้วย นี่ก็เป็นการไหว้ครูโดยปกติวิสัยเราไหว้ทุกวันจะเป็นวันไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นการประกอบพิธีไหว้ครูที่เป็นพิธีรีตอง มีเครื่องสังเวย มีครูผู้เป็นหัวหน้า อ่านโองการตามแบบแผนอย่างนี้ จะต้องทำในวันพฤหัสบดีเท่านั้นเพราะถือว่าพระพฤหัสบดีเป็นครูทั่วทุกวิชา บ้านใดมีเครื่องปี่พาทย์มีผู้บรรเลงเป็นหมู่คณะ มักจะประกอบพิธีไหว้ครูเป็นประจำทุกๆปี
ส่วนคณะที่เป็น อดิเรก เช่น มหาวิทยาลัย หรือธนาคาร หรือสถาบันใดๆก็ตามมักจะเลือกทำในโอกาสที่อำนวย นอกจากนี้มักกระทำพิธีไหว้ครูเมื่อเริ่มเรียน เป็นการกระทำอย่างย่อ เพียงแต่เคารพกฎหรือถวายตัวเป็นสานุศิษย์แห่งเทพเจ้าผู้เป็นครู ส่วนการไหว้ครูประจำปีนั้นโดยมากจะทำกันเป็นพิธีใหญ่
การไหว้ครูดุริยางคดนตรีนี้ น่าจะเนื่องมาโดยชาติไทยแต่โบราณคงจะนับถือเจ้าและผีกันอยู่บ้างแล้ว เมื่อมาได้คติทางศาสนาพราหมณ์ของอินเดียพร้อมๆ กับการเริ่มระเบียบแห่งการดนตรีขึ้นใหม่ในแดนสุวรรณภูมินี้ จึงได้ถือเป็นแบบอย่างสืบกันมาทีเดียว ไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะกล่าวว่าพิธีไหว้ครูของเราเอาแบบอินเดียมาใช้ เพราะชื่อเทพเจ้าทุกๆองค์ตรงตามตำราแห่งศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น แต่คงจะดำเนินตามคัมภีร์จำพวกปุราณะนิกายใดนิกายหนึ่งเป็นแน่ เพราะในโองการคำไหว้ครูตอนไหว้พระเป็นเจ้าไม่ได้ไหว้พระพรหม กล่าวนามแต่พระอิศวรกับพระนารายณ์และเทพยดาอื่นๆเท่านั้น
เนื่องจากไทยเราเป็นพุทมามกะ พิธีไหว้ครูมักจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ก่อนคือในวันพุธตอนเย็นก็จะมีพระสงฆ์เจริญพระพุทมนต์ รุ่งเช้าวันพฤหัสบดีถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อพระสงฆ์เสร็จภัตตกิตแล้ว จึงเริ่มพิธีไหว้ครู แต่พิธีสงฆ์นี้ไม่ได้อยู่ในระเบียบว่าจะต้องมี บ้านใดหรือคณะใดไม่สะดวกจะไม่มีก็ได้คือ เริ่มด้วยการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีทีเดียว ซึ่งจะต้องทำให้ตอนเช้า สถานที่ประกอบพิธีไหว้ครูควรให้มีที่กว้างพอที่ศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมพิธีจะนั่ง สิ่งที่จะตั้งสำหรับไหว้จะต้องมีที่ตั้ง พระพุทธรูปและเครื่องบูชาพร้อมไว้ทางหนึ่ง ส่วนอีกทางหนึ่งจัดตั้งเครื่องดนตรีไทยต่างๆ ให้เป็นระเบียบสวยงาม โดยไม่ต้องจัดเป็นวง และจะต้องมีตะโพนลูกหนึ่งตั้งอยู่โดยตั้งสูงกว่าสิ่งอื่นโดยเพราะในทางดนตรีไทยถือว่าตะโพน สมมติแทนองค์พระประคนธรรพ แต่ถ้าจะมีหน้าโขนตั้งด้วยก็ได้
หน้าโขนที่ควรจะตั้งก็คือหน้าฤาษี พระปรคนธรรพ พระวิสสุกรรม พระปัญจสีขร พระพิราพ แต่ถ้าจะเพิ่มหน้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระคเณศร์ อีกด้วยก็ยิ่งดี
ส่วนเรื่องบูชาพระยาบวช ก็มีดอกไม้ ธูปเทียน หัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลา บายศรีปากชาม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลไม้ต่างๆ หากว่าในพิธีนั้นไหว้พระพิราพด้วย ก็จะต้องมีเครื่องดิบอีกชุดหนึ่งเหมือนกับเครื่องสุกที่กล่าวไปแล้ว เครื่องสังเวยเหล่านี้เป็นคู่หรือเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ขันกำนล ซึ่งมีขันล้างหน้าใส่ดอกไม้ธูปเทียน ผ้าขาวหรือผ้าเช็ดหน้า และเงินกำนล ซึ่งโบราณใช้ ๖ บาท ถ้าจะมีปี่พาทย์บรรเลงหน้าพาทย์ประกอบด้วยก็ได้ แต่จะต้องมีขันกำนล
เช่นเดียวกัน ครูผู้ทำพิธีจะต้องนุ่งขาวห่มขาวเมื่อจุดธูปเทียนบูชาเสร็จแล้ว ครูก็จะทำน้ำมนต์ในขณะนั้นศิษย์และผู้ร่วมพิธีจุดเทียนบูชาอธิษฐานตามแต่ประสงค์ แล้วครูผู้ทำพิธีจะเริ่มกล่าวโองการนำให้ผู้ร่วมพิธีว่าตาม ซึ่งเริ่มบูชาพระรัตนตรัยและไหว้ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ขอพรต่างๆตามแบบแผน ซึ่งแต่ละครูแต่ละอาจารย์อาจผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แล้วปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ ตามที่ครูผู้ทำพิธีนั้นจะเรียก ต่อจากนั้นก็กล่าวถวายเครื่องสังเวย แล้วเว้นระยะสักครู่หนึ่ง จึงได้กล่าวลาเครื่องสังเวยต่อจากนั้นครูผู้เป็นประธานก็จะประพรมน้ำมนต์และเจิมเครื่องดนตรีและหน้าโขนต่างๆจบครบถ้วน หลังจากนั้นจึงประพรมน้ำมนต์และเจิมให้แก่ศิษย์ และผู้ร่วมพิธี เป็นอันเสร็จพิธีไหว้ครู หลังจากพิธีไหว้ครูแล้วจึงจะถึงพิธี “ครอบ” ซึ่งจะทำติดต่อกันไป
ประโยชน์ของการไหว้ครู
การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูตามประเพณีที่ถูกต้องย่อมบังเกิดประโยชน์ได้หลายประการคือ
๑. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป
๒. ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดีเป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อๆไป รู้สึกกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์
๓. เป็นการบำรุงขวัญของผู้ที่ได้ร่วมในการพิธีไหว้ครูและครอบ เพราะว่าได้กระทำพิธีต่างๆครบถ้วนตามแบบแผนแล้ว เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีจิตใจมั่นคงและมีขวัญดี
๔. เป็นการเสริมความสามัคคีระหว่างดุริยางคศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธีไหว้ครูนั้น บรรดานักดนตรี แม้จะอยู่คนละคณะก็จะมักมาร่วมพิธีไหว้ครูกันได้พบปะสังสรรรค์กันเป็นอันดี เป็นการเชื่อมความสามัคคีในหมู่ดุริยางคศิลปินด้วยกันให้แน่นแฟ้น